รีวิวภาพยนต์ เรื่อง Tom Clancy’s Without Remorse
หนังที่ทำลงโรงจาก Paramount Pictures แต่มาติดปัญหาโควิด ไม่ได้ฉาย สุดท้าย Amazon Prime มาซื้อไป ซึ่งเรื่องนี้ทางค่ายหนังตั้งใจเอามานิยายชุดตัวเอก จอห์น คลาร์ก ของ ทอม แคลนซี มาทำเป็นแฟรนไชส์ต่อกันยาวๆ โดยเล่ม Without Remorse เป็นจุดกำเนิดของตัวละครนี้ ซึ่งฉบับนิยายวางขายเมื่อปี 1993 ในเวอร์ชั่นนี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงปรับโฉมใหม่ทั้งหมด เรียกว่าเอามาแต่ชื่อตัวเอกกับโครงหลวมๆ เท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กระแสตอบรับไม่ถูกใจแฟนๆ นิยาย จนทำให้คะแนนของเรื่องต่ำมากๆ (IMDB เฉลี่ยได้ 5 กว่า เว็บมะเขือได้ 40% กว่าเท่านั้น) แต่ผู้เขียนไม่ได้เป็นคนอ่านนิยายมาก่อน แต่ก็รู้จักทอมแคลนซี่ดีจากเวอร์ชั่นทั้งหนังและเกมที่ทำออกมาหลายภาคทั้งคู่ ดังนั้นในรีวิวนี้จึงเป็นมุมมองของคนดูหนังทั่วไปกับเรื่องนี้โดยตรงไม่มีเรื่องของนิยานมาปนครับ

เนื้อเรื่องถูกปรับจากสงครามเวียดนามมาเป็นยุคปัจจุบันที่จอห์นเองยังเป็นหน่วยซีลบุกเข้าไปชิงตัวประกันในตะวันออกกลาง ก่อนจะกลายเป็นว่าภารกิจนั้นศัตรูเป็นทหารรัสเซีย ซึ่งแม้จอห์จะเอาตัวรอดได้ แต่ก็กลายเป็นปริศนาคาใจว่าทำไมภารกิจที่ได้รับถึงกลายเป็นรัสเซียไปได้ ในเวลาต่อมาทีมที่ทำภารกิจนั้นกลับถูกเก็บในอเมริกาขณะอยู่กับครอบครัว จอห์นเองรอดมาได้แบบเฉียดตาย แต่เมียที่ตั้งท้องถูกฆ่า เขาจึงต้องสืบให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นผู้บงการฆ่าที่แท้จริง

ตัวหนังทำออกมาเข้มข้นมากจากฉากการสืบสวนของจอห์น ที่เป็นสไตล์แปลกใหม่ด้วยการเอาตัวเองกับเหยื่อที่เขาต้องการเค้นข้อมูลไปอยู่ในจุดที่คับขัน อย่างการราดน้ำมันจุดไฟเผารถเหยื่อ แต่เขาเองกลับเข้าไปในรถเพื่อรีดข้อมูลด้วย ซึ่งเทคนิคบ้าดีเดือดของพระเอกในเรื่องนี้คือดิบสุดๆ แบบที่ไม่เคยมีตัวเอกหนังแอ็กชั่นในเรื่องอื่นทำมาก่อนแน่นอน และก็ไม่ได้มีแค่ฉากนั้นฉากเดียว แต่มีฉากอื่นที่เป็นแนวเดียวกันอีกครั้งในตอนจบ รวมถึงวิธีการช่วยเพื่อนแบบเอาตัวเองเป็นเหยื่อล่อคนเดียวให้โดนรุมทึ้งก็ด้วย โดยมีเหตุผลจากการที่พระเอกหมดความหวังในชีวิตแล้วจากที่เสียเมียกับลูกไป ทำให้การกระทำของพระเอกในเรื่องเป็นแนวลุยเพื่อไปตายดูสมเหตุสมผลในตัว

อีกจุดที่เรื่องนี้ค่อนข้างแปลกในยุคนี้คือการที่พระเอกแม้จะเก่งมากๆ แต่ก็เจอยิงสวนเจ็บตลอดเรื่อง ไม่มีการไล่ยิงแบบเท่ๆ เหมือนจอห์นวิค ไม่มีฉากที่ตั้งใจยิงเท่ๆ อะไรทั้งสิ้น การที่พระเอกบาดเจ็บอยู่ตลอดเวลา บางครั้งถึงเจียนตาย ทำให้เรื่องดูสมจริงขึ้นมาก แม้เราจะรู้แหละว่ายังไงพระเอกก็ไม่ตายแน่ๆ
ฉากแอ็กชั่นใหญ่ในเรื่องนี้มี 3 ฉาก คือฉากเปิดเรื่องในตะวันออกกลาง ฉากเครื่องบินตก ฉากลุยในตึกรัสเซีย นอกนั้นคือฉากแอ็กชั่นแบบประปรายพอประกอบเรื่องเท่านั้น อาจจะเพราะด้วยเวลาของหนังสั้นมากแค่ 1 ชั่วโมงครึ่ง (ไม่รวมเครดิต) จึงทำให้ใส่ฉากไม่ได้เยอะ แต่ก็ทำให้เรื่องอัดฉากแอ็กชั่นเข้ามาต่อเนื่องได้กำลังดี เหมาะสมกับเวลาแล้วครับ