รีวิว Mother Gamer : เมื่อเกมเมอร์ ต้องมาเล่นตามเกมแม่


หลังจากปล่อยให้รอคอยกันมานานหลายเดือน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ Mother Gamer เกมเมอร์เกมแม่ ต้องเลื่อนวันฉายออกไป ในที่สุดหนังไทยฟอร์มใหญ่ ผลงานการกำกับเรื่องล่าสุดของผู้กำกับสุดแนว เสือ-ยรรยง คุรุอังกูร ก็ได้ฤกษ์ออกสู่สายตาแฟนๆ กันเสียที

Mother Gamer เล่าเรื่องราวของ “เบญจมาศ” ครูคณิตศาสตร์ระเบียบจัด ผู้มีความเชื่อฝังหัวว่า การเรียนเท่านั้น ที่มีความสำคัญสูงสุดในชีวิตของเด็กๆ แถมยังต่อต้านเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบสุดๆ เพราะมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อการเรียนของเด็ก ซึ่ง เบญจมาศ ก็ได้ปลูกฝังความเชื่อนี้ให้กับ “โอม” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวของเธอ ทำให้ โอม เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความคาดหวังปนกดดันอันมหาศาลจากแม่ ว่าจะต้องตั้งใจเรียนให้ได้เกรดดีๆ เพื่อปูทางไปสู่อนาคตที่ดีอย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนเชื่อกัน

แต่ความลับที่ โอม ซ่อนเอาไว้จากแม่มาโดยตลอด นั่นคือพรสวรรค์ในการเล่นเกมระดับมืออาชีพ ที่สามารถทำเงินได้ก้อนใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อย ขณะที่ เบญจมาศ เห็นภาพลูกชาย เป็นนักเรียนดีเด่นสุดเนิร์ด ผู้มีผลการเรียนยอดเยี่ยมอย่างที่เธอตั้งใจให้เป็น แต่ในอีกโลกหนึ่ง เขาคือ โอม Sonic Fighter ผู้เล่น E-Sports ระดับ Pro Player ดาวรุ่งที่มาแรงที่สุดแห่งยุค

และเมื่อได้รู้ความจริงข้อนี้ เบญจมาศจึงไม่ยอมให้เกมมาขัดขวางเส้นทางสู่อนาคต ที่เธอตั้งอกตั้งใจปูเอาไว้ให้ลูกชายอย่างเด็ดขาด ซึ่งวิธีที่เธอเลือกใช้ คือการปั้นทีม E-Sports ของตัวเองขึ้นมา เพื่อเอาชนะลูกชายให้ได้บนเส้นทางสายเกมเมอร์ โดยได้รับการช่วยเหลือจาก “กอบศักดิ์” จอมเกเรประจำโรงเรียน พร้อมด้วยสมาชิกทีม ที่กอบศักดิ์คัดสรรมาเองกับมือ กลายเป็นสงครามระหว่างแม่กับลูก บนสังเวียนกีฬา E-Sports

สำหรับคอเกม โดยเฉพาะแฟนๆเกม ROV น่าจะอินกับเรื่องราวในหนังได้ไม่ยาก เพราะตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นการเล่าเรื่อง สลับการการแข่งเกมอันดุเดือด ที่ได้เหล่า Pro Player ชื่อดังในชีวิตจริง มาเป็นที่ปรึกษาด้านบท แถมยังพาเหรดกันมาร่วมแสดงสมทบกันอย่างคับคั่ง

แต่สำหรับคนไม่ได้เล่นเกมอย่างเรา กลับรู้สึกสนอกสนใจประเด็นของหนัง ที่หยิบยกเรื่องราวของ “เกม” ที่มักจะถูกมองเป็นผู้ร้ายเสมอในสายตาของผู้ใหญ่ มาบอกเล่าผ่านมุมมองของความแตกต่างระหว่างช่วงวัย สะท้อนภาพครอบครัวยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยียิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนเป็นพ่อแม่กับลูก ยิ่งถูกขยายกว้างมากยิ่งกว่าเดิม

ไอเดียนี้ถูกถ่ายทอดผ่านฝีมือการแสดงชั้นครูของ อ้อม พิยดา ที่แทบจะเรียกได้ว่าอุ้มหนังเรื่องนี้เอาไว้ได้อย่างอยู่หมัด เมื่อมาประกบกับนักแสดงเด็กมากประสบการณ์อย่าง ตน ต้นหน ก็แข็งแรงพอที่จะทำให้คนดูพยักหน้าตาม ไปกับเรื่องราวของสองแม่ลูกคู่นี้ได้ไม่ยาก

ขณะที่ตัวละครสำคัญอีกตัวอย่าง กอบศักดิ์ แม้จะเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของ เติร์ด ลภัส แห่งวง Trinity แต่ก็สวมบทบาทนักเรียนเกเรหลังห้อง ที่มีทั้งความเกรียน ความขบถ กวนประสาท และโหยหาการยอมรับ ออกมาได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อ

ส่วนสาว วี วีรยา จากวง BNK48 ที่เคยมีผลงานผ่านตาในซีรีส์กันไปบ้างแล้ว ครั้งนี้มาในบท มะปราง เกมเมอร์สาวลุคห้าว ที่เจ้าตัวบอกเองว่า คาแรคเตอร์ไม่ได้หนีจากตัวเองมากนัก ทำให้ตัวละครมะปราง มีความเป็นธรรมชาติสูง ยิ่งในพาร์ทกุ๊กกิ๊กโรแมนติก ก็ดูเคมีจะเข้ากับกอบศักดิ์ จนกระแสคู่จิ้น #เติร์ดวี มาแรงไม่แพ้หนังกันเลยทีเดียว

ตัวละครสมทบอย่าง แม็กซ์ (เตชินท์ ณัฐชนน) ไกด์ (บอส ธนบัตร) และ แบงค์ (นนท์ ศุภวัจน์) ถูกเสริมเข้ามาเพิ่มรสชาติให้หนังเรื่องนี้ ถูกปากเหล่าวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี แม้หลายคนจะยังดูชั่วโมงบินน้อยไปสักนิด แต่โดยรวมก็ถือว่าทำหน้าที่ของตัวเองออกมาได้ในระดับที่ “สอบผ่าน”

อีกเรื่องที่ดูจะไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือเทคนิคภาพเจ๋งๆ ทั้งการเลือกใช้มุมกล้องแปลกตา ที่ยั่วล้อไปกับอารมณ์และสถานการณ์ได้อย่างน่าสนใจ ไปจนถึงการใส่ CG มาแบบจัดเต็ม สมราคาหนังไทยฟอร์มใหญ่ ที่ซุ่มทำ Post-Production กันนานหลายเดือน

แต่ที่ดูจะเป็นจุดอ่อนของหนังเรื่องนี้ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือจังหวะจะโคนในการเล่าเรื่อง ที่ไม่ค่อยจะไม่ราบรื่นสักเท่าไหร่ บางช่วงดูรวบรัดตัดตอน ขณะที่บางจังหวะก็เนิบช้าเกินไป ส่วนมุกตลกบางมุกก็ดูจะ “ตั้งใจ” มากไปหน่อยจนขาดความเป็นธรรมชาติ เช่นเดียวกับฉากแอ็คชั่น ที่เลือกจะเล่นใหญ่ ใช้ภาพ Slow Motion ต่อเนื่องยาวทั้งซีน โชว์ความตระการตาของ CG แต่กลับสอบตกสิ้นเชิง ในแง่ความตื่นเต้นเร้าใจ

อย่างไรก็ดี พอได้ลองเปิดใจดูตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ยังรู้สึกว่า Mother Gamer เป็นหนังไทยอีกเรื่องที่ดูง่าย ดูสบาย เหมาะกับทุกเพศ และ(เกือบ)ทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยกำลังห้าว ลองจูงมือกันเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ อาจจะได้มุมมองที่คาดไม่ถึงกลับออกมาจากโรง เหมือนกับที่ “เบญจมาศ” และ “โอม” ได้เรียนรู้และเข้าใจ ก็เป็นได้

รีวิว Mother Gamer

รีวิวหนังออนไลน์